ฟิตร่างกายเพื่อเป็นนักแข่งรถฟอร์มูล่า 1 อย่างไร?

กีฬาท้าความเร็วอย่างกีฬาแข่งรถยนต์ หลายคนไม่เข้าใจว่าจัดเป็นกีฬาได้อย่างไร ในเมื่อมันก็แค่การขับรถเร็ว ๆ ไม่แปลกที่หลายคนคิดแบบนี้ เพราะการแข่งรถมันมีวิถีทางที่แตกต่างจากการขับรถบนท้องถนนธรรมดาค่อนข้างมาก หากคุณไม่ใช่นักแข่งรถแล้วล่ะก็ ยากที่จะจินตนาการถึงเลยทีเดียว ใครเคยทราบบ้างว่านักแข่งรถฟอร์มูล่า 1 ที่ขับเข้าโค้งด้วยความเร็วเกินกว่า 200 กม./ชม.นั้นมีความรู้สึกอย่างไร มีใครทราบหรือไม่ว่าการขับด้วยความเร็วขนาดนั้นเข้าโค้งตัวนักแข่งรถเองจะรู้สึกเหมือนกำลังถูกถีบออกไปจากโค้งด้วยแรงถีบราว 25 กิโลกรัม ยิ่งสวมหมวกกันน็อคเข้าไปด้วยก็ยิ่งหนัก เหมือนถูกถีบหัวด้วยแรงเพิ่มไปอีกกว่า 7 กิโลกรัมเลยนะ เหมือนเดินเอาดัมเบลหนักสัก 30 กิโลกรัมแขวนคอ ลองนึกภาพดูเองละกันว่าการจะรับแรงผลักขนาดนั้นได้ต้องแข็งแรงขนาดไหน ไม่เช่นนั้นอย่าว่าแต่แข่งให้จบเกมเลย แค่โค้งเดียวก็ไม่รอดแล้ว นอกจากนั้นแล้วการแข่งขันที่ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงเนี่ย ความแข็งแรงทนทานของร่างกายหรือหัวใจก็ต้องดีมากเช่นกัน ต้องดีพอ ๆ กับนักวิ่งมาราธอนเลยนะ เพราะในขณะขับรถด้วยความเร็วสูงนั้นหัวใจอาจเต้นเร็วถึง 170 – 190 ครั้ง/นาทีเลย

นักแข่งรถฟอร์มูล่า 1 ต้องมีการฝึกร่างกายอย่างไรจึงจะเรียกว่าเหมาะสม?

เหมือนที่เกริ่นไปตอนต้นว่านักแข่งรถต้องรับแรงกดดันอย่างไรในการขับบ้าง ดังนั้นการฝึกซ้อมร่างกายให้พร้อมรับแรงกดดันเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง มาดูกันว่านักแข่งรถควรฝึกร่างกายอย่างไรกันบ้าง

                ลำตัวเป็นแกนกลางร่างกายที่สำคัญที่สุดในเรื่องของสมดุล จุดส่งแรงรับแรงทั้งหมดมีศูนย์รวมที่แกนกลางร่างกาย ส่วนนี้จึงเป็นส่วนหลักที่ควรจะเน้นกัน

                คอเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเนื่องจากคอเป็นส่วนที่มีกล้ามเนื้อขนาดเล็ก การรับแรงหนัก ๆ อาจทำให้ส่วนนี้ได้รับผลกระทบมาก การออกกำลังโดยเพิ่มท่าหรืออุปกรณ์สำหรับบริหารส่วนคอโดยเฉพาะจะช่วยให้ตัวนักแข่งรับแรงผลักที่เกิดจากการเข้าโค้งได้ดีขึ้น

                แขนและขาส่วนสำคัญที่ต้องคอยประคองพวงมาลัยรถแข่ง คันเร่ง ครัช และเบรกเพื่อให้รถคู่ใจเคลื่อนที่ได้ตามที่ต้องการ กำลังแขนและขานั้นไม่ได้ขึ้นกับขนาดแต่ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อนะ กล้ามเนื้อที่กระชับไม่ใหญ่เกินไปจนเทอะทะ การออกกำลังที่เน้นกล้ามเนื้อจะใช้การทำแบบเร็ว ๆ จำนวนครั้งน้อย ๆ แต่ทำบ่อย ๆ จะดีที่สุดสำหรับการพัฒนาความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะ

นอกจากกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แล้วยังต้องเน้นการออกกำลังกายแบบใดอีก?

การฝึกฝนนอกจากร่างกายแล้วที่สำคัญไม่แพ้กันคือหัวใจ เพราะเป็นส่วนที่บ่งบอกถึงความฟิตของร่างกาย  หัวใจที่แข็งแรงจะสูบฉีดเลือดได้ดี หัวใจของนักแข่งรถฟอร์มูล่า 1 นั้นแข็งแรงพอ ๆ กับนักวิ่งมาราธอนเลยทีเดียว รูปแบบการฝึกความทนทานของหัวใจจะใช้การออกกำลังกายที่เรียกว่าคาร์ดิโอ ที่เน้นการออกแรงหนัก ๆ เร็ว ๆ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หัวใจที่แข็งแรงวัดได้จากชีพจรที่เต้นไม่เกิน 60 ครั้ง/นาที                

เหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายเลยใช่ไหมล่ะสำหรับนักกีฬาแข่งรถฟอร์มูล่า 1 ที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจไม่ต่างกับนักกีฬามืออาชีพจริง ๆ

Credit : https://cdn.pixabay.com/photo/2015/02/20/18/38/racing-643472_960_720.jpg

รถแข่งกับแอโรไดนามิกส์ วิศวกรรมที่จำเป็นสำหรับนวัตกรรมใหม่

โลกการแข่งขันกีฬาแข่งรถยนต์ทุกชนิด รวมถึงฟอร์มูล่า 1 ด้วยนั้น พลศาสตร์ของไหลหรือหลักแอโรไดนามิกส์เป็นศาสตร์ที่วิศวกรใช้สนามแข่งรถเป็นที่ทดสอบขีดจำกัดของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นที่ที่วิศวกรแหกกรอบความคิดเกี่ยวกับหลักการทางวิศวกรรมเพื่อเป้าหมายในการออกแบบรถที่ดีที่สุด ไปชิงชัยในสนามแข่งขัน หากติดปีกให้รถแข่งได้คงทำให้รถเร็วขึ้นอีกมากเลยทีเดียว หลักการนี้อาจเป็นเรื่องซับซ้อนสักหน่อย แต่อยากให้รู้หลักการพื้นฐานบางอย่างไว้เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาลักษณะของรถแข่งว่าทำไมจึงต้องมีการออกแบบให้เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะรถฟอร์มูล่า 1 ที่อาศัยหลักแอโรไดนามิกส์ค่อนข้างมากทีเดียว

หลักแอโรไดนามิกส์คืออะไร สำคัญกับการออกแบบรถแข่งขนาดนั้นเชียวหรือ?

หลักแอโรไดนามิกส์หรือพลศาสตร์ของไหลเป็นสาขาหนึ่งของวิชากลศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนที่ของอากาศ ก๊าซต่าง ๆ รวมถึงของเหลวด้วย เรียกรวม ๆ กันว่าของไหล อธิบายและคาดการณ์ผลกระทบต่อวัตถุต่าง ๆ ที่เคลื่อนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของของไหลนั้น แน่นอนว่ารถแข่งที่วิ่งด้วยความเร็วสูงผ่านอากาศก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักการนี้เช่นกัน ถ้านึกภาพไม่ออกให้ลองจินตนาการดูว่าเรานั่งในรถที่กำลังขับไปตามถนน จากนั้นยื่นมือออกไปนอกหน้าต่าง เราจะรู้สึกได้ถึงแรงผลักของอากาศที่กระทำกับมือของเรา ไม่เฉพาะมือแต่ทุกวัตถุที่เคลื่อนที่ผ่านอากาศจะได้รับผลของแรงนี้ทั้งสิ้น ยิ่งวัตถุมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีแรงผลักจากอากาศมาก เราเรียกแรงนี้ว่า แรงต้านอากาศ ที่น่าสนใจคือเมื่อวัตถุเช่น รถฟอร์มูล่า 1 ยิ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากเท่าใด แรงต้านอากาศก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ลองจินตนาการเวลาเราเดินในน้ำกับวิ่งในน้ำ ตอนวิ่งจะรู้สึกว่าหนืดกว่าตอนเดิน เพราะอย่างนี้เลยเป็นเรื่องท้าทายของเหล่าบรรดาวิศวกรทั้งหลายที่จะคิดวิธีเอาชนะผลจากแรงต้านอากาศนี้ให้ได้

ยังมีอีกแรงหนึ่งที่เกิดจากการเคลื่อนที่ผ่านอากาศก็คือแรงกด เมื่อรถเคลื่อนที่ผ่านอากาศจะเกิดแรงกดบนตัวรถทำให้รถแข่งเกาะติดถนนไม่เหินเมื่อเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ๆ ดังนั้นเมื่อมีทั้งแรงต้านอากาศ และแรงกดเช่นนี้หน้าที่วิศวกรคือออกแบบให้แรงกดมีมากกว่าแรงต้านอากาศเพื่อให้รถแข่งสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วสูง ๆ ได้นั่นเอง

ตัวรถฟอร์มูล่า 1 ออกแบบอย่างไรให้เป็นไปตามหลักแอโรไดนามิกส์               

การออกแบบให้ตัวรถแข่งสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูง จะทำให้ลักษณะของตัวถังรถมีความโค้งไม่เท่ากันเพื่อให้อากาศที่ไหลผ่านตัวรถมีความเร็วด้านบนกับด้านล่างไม่เท่ากัน ด้านบนจะมีความโค้งน้อยกว่าทำให้มีความเร็วผ่านเร็วกว่าด้านล่างซึ่งโค้งมากกว่าผลก็คือเกิดแรงกดกับตัวรถด้านบนทำให้รถยึดเกาะถนนได้ดี ส่วนที่ออกแบบคือแผ่นที่กั้นระหว่างพื้นถนนกับยางที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลัง ตัวถังที่เจาะช่องให้อากาศไหลผ่านตัวรถส่วนบนกับล่างที่มีความโค้งไม่เท่ากัน เมื่อรถถูกแรงกดให้แนบพื้นการเข้าโค้งรถจะไม่ไถลออกนอกโค้ง เวลาในการขับจะลดลงได้ นี่แหละคือความลับของหลักแอโรไดนามิกส์