ฟิตร่างกายเพื่อเป็นนักแข่งรถฟอร์มูล่า 1 อย่างไร?

กีฬาท้าความเร็วอย่างกีฬาแข่งรถยนต์ หลายคนไม่เข้าใจว่าจัดเป็นกีฬาได้อย่างไร ในเมื่อมันก็แค่การขับรถเร็ว ๆ ไม่แปลกที่หลายคนคิดแบบนี้ เพราะการแข่งรถมันมีวิถีทางที่แตกต่างจากการขับรถบนท้องถนนธรรมดาค่อนข้างมาก หากคุณไม่ใช่นักแข่งรถแล้วล่ะก็ ยากที่จะจินตนาการถึงเลยทีเดียว ใครเคยทราบบ้างว่านักแข่งรถฟอร์มูล่า 1 ที่ขับเข้าโค้งด้วยความเร็วเกินกว่า 200 กม./ชม.นั้นมีความรู้สึกอย่างไร มีใครทราบหรือไม่ว่าการขับด้วยความเร็วขนาดนั้นเข้าโค้งตัวนักแข่งรถเองจะรู้สึกเหมือนกำลังถูกถีบออกไปจากโค้งด้วยแรงถีบราว 25 กิโลกรัม ยิ่งสวมหมวกกันน็อคเข้าไปด้วยก็ยิ่งหนัก เหมือนถูกถีบหัวด้วยแรงเพิ่มไปอีกกว่า 7 กิโลกรัมเลยนะ เหมือนเดินเอาดัมเบลหนักสัก 30 กิโลกรัมแขวนคอ ลองนึกภาพดูเองละกันว่าการจะรับแรงผลักขนาดนั้นได้ต้องแข็งแรงขนาดไหน ไม่เช่นนั้นอย่าว่าแต่แข่งให้จบเกมเลย แค่โค้งเดียวก็ไม่รอดแล้ว นอกจากนั้นแล้วการแข่งขันที่ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงเนี่ย ความแข็งแรงทนทานของร่างกายหรือหัวใจก็ต้องดีมากเช่นกัน ต้องดีพอ ๆ กับนักวิ่งมาราธอนเลยนะ เพราะในขณะขับรถด้วยความเร็วสูงนั้นหัวใจอาจเต้นเร็วถึง 170 – 190 ครั้ง/นาทีเลย

นักแข่งรถฟอร์มูล่า 1 ต้องมีการฝึกร่างกายอย่างไรจึงจะเรียกว่าเหมาะสม?

เหมือนที่เกริ่นไปตอนต้นว่านักแข่งรถต้องรับแรงกดดันอย่างไรในการขับบ้าง ดังนั้นการฝึกซ้อมร่างกายให้พร้อมรับแรงกดดันเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง มาดูกันว่านักแข่งรถควรฝึกร่างกายอย่างไรกันบ้าง

                ลำตัวเป็นแกนกลางร่างกายที่สำคัญที่สุดในเรื่องของสมดุล จุดส่งแรงรับแรงทั้งหมดมีศูนย์รวมที่แกนกลางร่างกาย ส่วนนี้จึงเป็นส่วนหลักที่ควรจะเน้นกัน

                คอเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเนื่องจากคอเป็นส่วนที่มีกล้ามเนื้อขนาดเล็ก การรับแรงหนัก ๆ อาจทำให้ส่วนนี้ได้รับผลกระทบมาก การออกกำลังโดยเพิ่มท่าหรืออุปกรณ์สำหรับบริหารส่วนคอโดยเฉพาะจะช่วยให้ตัวนักแข่งรับแรงผลักที่เกิดจากการเข้าโค้งได้ดีขึ้น

                แขนและขาส่วนสำคัญที่ต้องคอยประคองพวงมาลัยรถแข่ง คันเร่ง ครัช และเบรกเพื่อให้รถคู่ใจเคลื่อนที่ได้ตามที่ต้องการ กำลังแขนและขานั้นไม่ได้ขึ้นกับขนาดแต่ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อนะ กล้ามเนื้อที่กระชับไม่ใหญ่เกินไปจนเทอะทะ การออกกำลังที่เน้นกล้ามเนื้อจะใช้การทำแบบเร็ว ๆ จำนวนครั้งน้อย ๆ แต่ทำบ่อย ๆ จะดีที่สุดสำหรับการพัฒนาความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะ

นอกจากกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แล้วยังต้องเน้นการออกกำลังกายแบบใดอีก?

การฝึกฝนนอกจากร่างกายแล้วที่สำคัญไม่แพ้กันคือหัวใจ เพราะเป็นส่วนที่บ่งบอกถึงความฟิตของร่างกาย  หัวใจที่แข็งแรงจะสูบฉีดเลือดได้ดี หัวใจของนักแข่งรถฟอร์มูล่า 1 นั้นแข็งแรงพอ ๆ กับนักวิ่งมาราธอนเลยทีเดียว รูปแบบการฝึกความทนทานของหัวใจจะใช้การออกกำลังกายที่เรียกว่าคาร์ดิโอ ที่เน้นการออกแรงหนัก ๆ เร็ว ๆ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หัวใจที่แข็งแรงวัดได้จากชีพจรที่เต้นไม่เกิน 60 ครั้ง/นาที                

เหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายเลยใช่ไหมล่ะสำหรับนักกีฬาแข่งรถฟอร์มูล่า 1 ที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจไม่ต่างกับนักกีฬามืออาชีพจริง ๆ

Credit : https://cdn.pixabay.com/photo/2015/02/20/18/38/racing-643472_960_720.jpg

จริงหรือไม่ ที่นักกีฬาแข่งรถยนต์ มีเคล็ดลับการขับรถที่เหนือกว่าการขับรถแบบทั่วไป?

หลายคนอาจสงสัยว่าจริง ๆ แล้วนักกีฬาแข่งรถนั้นมีทักษะอะไรทางด้านการขับขี่ที่เหนือกว่าคนที่ขับรถเป็นทั่ว ๆ ไปบ้าง หรือไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย เพียงแค่ขับให้เร็วขึ้นเท่านั้น ความจริงแล้วกีฬาแข่งรถยนต์นั้นมีเงื่อนไขในการขับขี่อยู่เพียง 2 ประการคือเข้าเส้นชัยให้เร็ว และขับอย่างปลอดภัย ประเด็นการเข้าเส้นชัยให้เร็วคิดว่าใครก็คงทราบเทคนิคว่าก็ขับให้เร็วเท่านั้น แต่ประเด็นการขับให้ปลอดภัยนี่สิ น่าสนใจ…เพราะการขับรถด้วยความเร็วสูง ๆ นั้นจะมีเคล็ดลับการขับอย่างไรให้ปลอดภัยล่ะ

7 เคล็ดลับ การขับขี่อย่างปลอดภัยที่ควรจะเรียนรู้จากนักแข่งรถ

เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยให้คุณนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกช่วงของการเดินทางและการขับขี่บนพื้นถนนที่ไม่ปกติได้อีกด้วย

  1. ใช้สายตาดังกล้องถ่ายภาพ เริ่มต้นจากการใช้สายตาและสมองก่อนเลย การใช้สายตาในการขับรถนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก การขับขี่ที่ดีควรมีการมองกวาดไปดูรอบ ๆ ตัวบ้าง ดูเส้นทางและสถานการณ์ด้านหน้าในระยะไกล ๆ บ้าง เพื่อให้สมองจดจำภาพเหมือนกับการถ่ายภาพเก็บไว้เป็นภาพไป เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน สมองจะทำการประมวลผลจากภาพที่ใช้ตามองจับนั้นไว้เพื่อให้เกิดการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงแนวทางในการป้องกันตัวเองได้อย่างทันท่วงที
  2. เบรกด้วยเท้าซ้ายปลอดภัยกว่า อาจรู้สึกขัดความรู้สึกไปสักนิด แต่นักแข่งรถใช้เท้าซ้ายในการเบรกจริง ๆ เพราะการเท้าซ้ายอยู่ใกล้เบรกมากกว่า สามารถลดระยะเวลาในการเบรกได้มากกว่าการเบรกด้วยการใช้เท้าขวาเมื่อเทียบเป็นระยะทางก็สั้นกว่าประมาณ 25 – 45 เมตรเลยทีเดียว
  3. เคลื่อนไหวให้น้อย เน้นการควบคุมรถ มีนักขับหลายคนเข้าใจว่าการควบคุมรถไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนเกียร์บ่อย ๆ การเบรกหรือเร่งเครื่องอยู่เสมอแสดงถึงทักษะชั้นยอดของนักขับ แต่สำหรับนักขับชั้นยอดจริง ๆ แล้วสิ่งที่โฟกัสเพียงอย่างเดียวคือการควบคุมรถโดยละทิ้งการเคลื่อนไหวที่เปล่าประโยชน์ไปให้มากที่สุดต่างหาก ความเร็วพยายามรักษาให้คงที่เพื่อไม่ต้องคอยเปลี่ยนเกียร์บ่อย ๆ ให้สมาธิจดจ่ออยู่ที่การควบคุมการเคลื่อนที่เท่านั้น
  4. บังคับ 2 มือมั่นคงกว่ามือเดียว เป็นความเข้าใจผิดอีกอย่างเหมือนกันสำหรับนักขับทั่ว ๆ ไปว่าการบังคับรถให้เลี้ยวในขณะที่มือหนึ่งแตะพร้อมที่การเปลี่ยนเกียร์ส่วนอีกมือหนึ่งบังคับพวงมาลัยให้เลี้ยว แต่สำหรับนักแข่งรถแล้วจะให้ความสำคัญกับการบังคับรถมาก ๆ สองมือประคองพวงมาลัยเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการขับเข้าโค้งมากที่สุด สองมือที่ประคองนี้จะสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางในการเคลื่อนที่แบบกะทันหันได้อย่างดีที่สุด
  5. ควบคุมได้แม้ไถลลื่น ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างรถที่กำลังขับเกิดการไถลลื่น สิ่งที่ควรทำเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุดคืออะไร การไถลลื่นไม่ใช่การ drift นะไม่เหมือนกัน การ drift เป็นความจงใจของนักแข่งที่ต้องการควบคุมให้รถเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการในขณะที่ยังคงรักษาความเร็วไว้อยู่ แต่การไถลลื่นนั้นมาจากสาเหตุที่ไม่ได้ตั้งใจ วิธีการควบคุมรถคือการควบคุมสติมุ่งเป้าสายตาไปยังตำแหน่งที่ต้องการให้รถไถลไปหยุด จากนั้นพยายามควบคุมพวงมาลัยให้รถเคลื่อนที่ไปยังจุดที่ต้องการนั้น ในขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ แตะเบรกช้า ๆ เป็นระยะเพื่อควบคุมสมดุลของรถ
  6. ขับขี่ปลอดภัยแม้ขับบนพื้นเปียก ไม่มีข้อสงสัยอะไรเลยสำหรับพื้นผิวถนนที่เปียกนั้นย่อมอันตรายกว่าปกติแน่นอน สิ่งที่ควรทำก็คือการควบคุมให้รถวิ่งไปตามช่องทางให้ได้ โดยพยายามรักษาระยะห่างระหว่างรถคันหน้าและคันหลัง ในขณะที่สายตาก็มองหาบริเวณที่อาจลื่นเพื่อจะได้ระวังและเตรียมตัวให้พร้อม
  7. เอาตัวรอดให้เป็นเมื่อยางระเบิด เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน โอกาสเกิดน้อยแต่หากเกิดขึ้นก็ควรรู้วิธีเอาตัวรอดให้เป็น ในสถานการณ์เช่นนี้นักขับมืออาชีพจะพยายามควบคุมรถที่สูญเสียการควบคุมให้เคลื่อนที่เป็นทางตรง ไม่เบี่ยงออกนอกเส้นทาง ไม่พยายามเบรกกะทันหัน แต่จะรอให้ความเร็วช้าลงจนพอที่จะจอดได้จึงจะจอด การควบคุมรถด้วยวิธีนี้จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้ร่วมทางด้วย

บทสรุปสำคัญจากเคล็ดลับการขับขี่จากนักกีฬาแข่งรถมืออาชีพ               

นักขับรถมืออาชีพจะไม่ได้มุ่งเน้นที่การขับขี่ให้รวดเร็วที่สุด หรือขับขี่ให้ดูเท่ห์น่าสนใจมากที่สุด แต่หัวใจสำคัญคือขับขี่อย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด ทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมถนนทุกคน นี่เป็นสิ่งที่นักขับทุกควรพึงระลึกไว้เสมอ ลองนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปใช้กันดู จะเป็นประโยชน์ทั้งการพัฒนาการขับขี่ของตัวคุณเองและยังดีกับเรื่องความปลอดภัยของคุณอีกด้วยนะ

Credit : https://cdn.pixabay.com/photo/2016/03/26/22/32/fast-1281628_960_720.jpg

หากคิดว่านักขับหญิงไม่ฟิตเท่านักขับชายแล้วล่ะก็ คงต้องคิดใหม่แล้วล่ะ

ในโลกของกีฬาแข่งรถยนต์ มีการถกเถียงกันว่านักกีฬาแข่งรถหญิงฟิตสู้นักกีฬาแข่งรถชายหรือไม่ ประเด็นนี้ไม่ได้เพิ่งเป็นกระแสร้อนแรงแต่มีการพูดคุยกันมานานแล้ว รวมถึงมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้กันอยู่ไม่น้อยเช่นกัน  ผลการศึกษาล่าสุด พบว่าแม้ผู้หญิงที่เป็นนักกีฬาแข่งรถจะมีประสบการณ์น้อยกว่านักกีฬาชายกว่า 10 ปีก็ตาม แต่เมื่ออยู่หลังพวงมาลัยรถแล้วล่ะก็ มีปฏิกิริยาและการตอบสนองในการขับไม่ด้อยไปกว่านักกีฬาชายเลยทีเดียว

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่านักกีฬาแข่งรถหญิงสามารถทำได้ดีทีเดียว

เมื่อปีที่ผ่านมา Carmen Jorda สมาชิกคณะกรรมาธิการหญิงใน FIA เรียกร้องให้มีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีบทบาทในอาชีพนักแข่งให้มากขึ้น กีฬาท้าความเร็วเช่นนี้ผู้หญิงเองก็มีสิทธิ์ที่จะลงแข่งได้ ในขณะที่นักแข่งรถมืออาชีพจำนวนไม่น้อยรวมถึง Danica Patrick ก็ได้ออกมาโต้แย้งข้อเรียกร้องของเธอ

การศึกษาล่าสุดของ Michigan State University ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Medicine and Science in Sports and Exercise ยืนยันว่านักแข่งรถหญิงที่แม้จะมีประสบการณ์ในการขับน้อยกว่าผู้ชายกว่า 10 ปี มีปฏิกิริยาและการตอบสนองเร็วไม่ต่างกับผู้ชายที่มีชั่วโมงบินในสนามแข่งเลย การวิจัยยังครอบคลุมการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการมีรอบเดือนของผู้หญิงที่คาดว่าน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการขับขี่อีกด้วย โดยเชื่อว่าความเครียดจากการมีรอบเดือนนี่แหละที่เป็นแรงกดดันหลักที่สำคัญที่สุดต่อการแข่งรถ ผศ. David Ferguson ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้านสรีรวิทยาของนักแข่งรถมากว่า 15 ปี กล่าวว่าอุณหภูมิร่างกายของผู้หญิงมักสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงมีรอบเดือน มีการเข้าใจผิดว่าช่วงนั้นของเดือนผู้หญิงจะรู้สึกอ่อนเพลียได้เร็วขึ้นและมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการขับขี่ได้ เขายังบอกอีกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเข้าใจผิดทั้งสิ้น

การทำความเข้าในเกี่ยวกับการทำงานของร่างกายในขณะที่เกิดเหตุฉุกเฉินเป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษาเกี่ยวกับความผันผวนของฮอร์โมนที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับขี่ก็สำคัญเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ Ferguson จึงได้ทำการประเมินนักขับหญิงทั้ง 2 ระยะของการมีประจำเดือน ระยะแรกคือระยะฟอลิคิวลาร์ (Follicular phase) เป็นระยะที่ประจำเดือนเริ่มมาจนถึงวันก่อนไข่ตก และระยะที่สองคือระยะลูเตียล (Lutral phase) เป็นช่วงครึ่งหลังของการตกไข่

จากการทดสอบ 3 สนามแข่งขันที่มีสภาพคล้ายกัน Ferfuson เฝ้าสังเกตนักขับชาย 6 คน และนักขับหญิงซึ่งมีประสบการณ์น้อยกว่าอีก 6 คน โดยวิเคราะห์จากอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจ อุณหภูมิร่างกายและผิวกาย ความเครียดและความอ่อนเพลียจากความร้อน ภายใต้สภาพรถทั้งแบบเปิดและไม่เปิดประทุน

ระยะลูเตียลเป็นระยะที่นักขับรถแข่งหญิงมีอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกายสูง และยังมีการเพิ่มขึ้นของปัจจัยทางสรีระอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของความอ่อนล้า พบว่าแม้นักขับหญิงจะอยู่ในระยะนี้ ปัจจัยทางสรีระของนักกีฬาแข่งรถหญิงแทบไม่แตกต่างกับนักกีฬาแข่งรถชายเลย Ferguson ยังกล่าวอีกว่าสำหรับภายใต้สภาพรถไม่ว่าจะเปิดหรือไม่เปิดประทุนกลับเป็นปัจจัยให้เกิดความเครียดมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนของนักขับหญิงเสียด้วยซ้ำ

หรือนักแข่งรถหญิงจะเหนือกว่านักขับชายจริง ๆ ?               

จากการศึกษายังพบอีกว่า นักแข่งรถหญิงมีการเรียนรู้และสามารถพัฒนาทักษะในการขับรถได้เร็วกว่านักแข่งชายเสียด้วยซ้ำ จึงสรุปได้ว่า การขับรถนั้นก่อให้เกิดความเครียดได้พอ ๆ กันทั้งชายและหญิง แต่นักขับหญิงนั้นมีความอดทนในการขับขี่สูงกว่านักขับชาย เมื่อเทียบกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในช่วงมีประจำเดือนแต่ยังสามารถควบคุมการขับขี่จนจบได้ นี่อาจเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้พวกเธอเหนือกว่านักขับชายก็ได้

Credit : https://www.carrushome.com/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%8D%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2-11/

กีฬาแข่งรถยนต์…นักกีฬาเลือกความคุ้มครองในรูปแบบประกันชีวิตได้หรือไม่

กีฬาแข่งรถยนต์จะต้องมีระบบความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นสนามแข่งขัน สมรรถภาพรถยนต์ที่ใช้ในการแข่งขัน ชุดนักกีฬาและสุขภาพร่างกายของนักกีฬา เพื่อให้ลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยตามกฎหมายแล้วจะมีการกำหนดรูปแบบให้ปฏิบัติตาม แต่เพื่อความมั่นใจของตัวนักกีฬาเอง การเลือกความคุ้มครองก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดความอุ่นใจขึ้นอีก นักกีฬาแข่งรถที่ต้องใช้ความเร็ววัดความสามารถกันในสนามแข่งขันรถยนต์ จะมีบริษัทประกันภัยให้ความคุ้มครองหรือไม่ ถ้าหากว่ามี แล้วจะเลือกความคุ้มครองในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด มีความคุ้มค่ามากที่สุด เนื่องจากโดยปกติแล้วอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงบริษัทประกันไม่มีความคุ้มครองครอบคลุมให้ ถ้ามี…เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายก็อาจจะแพงมากหรือไม่

นักกีฬาแข่งรถยนต์….เลือกความคุ้มครองในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด

ถึงแม้ว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตส่วนใหญ่ มักจะไม่มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงการขับขี่รถยนต์เพื่อการแข่งขัน แต่ก็ยังมีบางแห่งที่มีกรมธรรม์คุ้มครองและเหมาะสมอย่างมากกับนักกีฬาแข่งรถ โดยจะต้องเป็นการแข่งขันในสนามที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่การแข่งขันบนท้องถนนปกติ เนื่องจากเหตุสุดวิสัยนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ นักกีฬาควรเลือกรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด

  • เลือกประกันที่สามารถคุ้มครองในด้านการรักษาพยาบาล เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างการแข่งขันอาจจะได้รับบาดเจ็บไม่มากก็น้อย ถ้ามีครอบคลุมได้ในเรื่องค่ารักษาพยาบาลก็ทำให้อุ่นใจทุกสนามที่ลงแข่งขันอย่างแน่นอน ถ้าหากเลือกกรมธรรม์ที่ไม่ต้องมีการสำรองจ่ายได้ก็ยิ่งคุ้มค่า
  • กรมธรรม์ประกันที่นักกีฬาแข่งรถยนต์เลือก ต้องสามารถชดเชยรายได้ให้แบบสูงสุด เนื่องจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สูญเสียรายได้ไประยะเวลาหนึ่ง การชดเชยจากกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เลือกก็คือการเยียวยาที่ดีที่สุด
  • มีสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลในเครือกรมธรรม์ครอบคลุมหลายพื้นที่ ทั่วประเทศ เพื่อความสะดวกสบายในการเข้ารับการรักษา เมื่อต้องประสบเหตุระหว่างการแข่งขัน เนื่องจากนักกีฬามักจะต้องเดินทางเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • การจ่ายเบี้ยเริ่มต้นได้แบบสบายกระเป๋า ถือว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักกีฬาแข่งรถยนต์ หรือนักกีฬาผาดโผนที่มีความเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย สามารถเลือกวิธีจ่ายเบี้ยกรมธรรม์ได้ตามสะดวก
  • โปรโมชั่นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การลดเบี้ยประกันในรอบปีถัดไป สำหรับนักกีฬาที่ขับขี่ปลอดภัยดีตามกฎกติกา หรือไม่มีเหตุให้เคลมประกัน, การจ่ายเบี้ยแบบผ่อนชำระเป็นงวด ๆ และอื่น ๆ

การแข่งขันรถยนต์แบบมีความคุ้มครอง ย่อมให้ความมั่นใจได้ดีกว่าแน่นอน               

การแข่งขันรถยนต์แบบมีความคุ้มครอง ย่อมให้ความมั่นใจได้ดีกว่า ไม่ใช่เฉพาะกับตัวเองเท่านั้น แต่ยังให้ความมั่นใจและความมั่นคงไปยังคนรอบข้างอีกด้วย โดยเฉพาะคนในครอบครัว ตัวนักกีฬาแข่งรถก็สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเต็มที่ ตามเป้าหมายที่เป็นความฝันจนกลายเป็นความจริงได้ต่อไปในอนาคต เพราะสนามแข่งรถยนต์นั้นมีหลายระดับ ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก นักแข่งแทบทุกคนย่อมมีความฝันอันสูงสุดอยู่ที่สนามแข่งระดับโลก เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งในบทพิสูจน์ความสามารถในการแข่งขัน ความมุ่งมั่นได้ก้าวสู่เส้นชัยที่เรียกว่าเป้าหมายอย่างแท้จริง

Credit : https://cdn.pixabay.com/photo/2018/05/20/10/13/racing-3415413_960_720.jpg

รถแข่งกับแอโรไดนามิกส์ วิศวกรรมที่จำเป็นสำหรับนวัตกรรมใหม่

โลกการแข่งขันกีฬาแข่งรถยนต์ทุกชนิด รวมถึงฟอร์มูล่า 1 ด้วยนั้น พลศาสตร์ของไหลหรือหลักแอโรไดนามิกส์เป็นศาสตร์ที่วิศวกรใช้สนามแข่งรถเป็นที่ทดสอบขีดจำกัดของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นที่ที่วิศวกรแหกกรอบความคิดเกี่ยวกับหลักการทางวิศวกรรมเพื่อเป้าหมายในการออกแบบรถที่ดีที่สุด ไปชิงชัยในสนามแข่งขัน หากติดปีกให้รถแข่งได้คงทำให้รถเร็วขึ้นอีกมากเลยทีเดียว หลักการนี้อาจเป็นเรื่องซับซ้อนสักหน่อย แต่อยากให้รู้หลักการพื้นฐานบางอย่างไว้เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาลักษณะของรถแข่งว่าทำไมจึงต้องมีการออกแบบให้เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะรถฟอร์มูล่า 1 ที่อาศัยหลักแอโรไดนามิกส์ค่อนข้างมากทีเดียว

หลักแอโรไดนามิกส์คืออะไร สำคัญกับการออกแบบรถแข่งขนาดนั้นเชียวหรือ?

หลักแอโรไดนามิกส์หรือพลศาสตร์ของไหลเป็นสาขาหนึ่งของวิชากลศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนที่ของอากาศ ก๊าซต่าง ๆ รวมถึงของเหลวด้วย เรียกรวม ๆ กันว่าของไหล อธิบายและคาดการณ์ผลกระทบต่อวัตถุต่าง ๆ ที่เคลื่อนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของของไหลนั้น แน่นอนว่ารถแข่งที่วิ่งด้วยความเร็วสูงผ่านอากาศก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักการนี้เช่นกัน ถ้านึกภาพไม่ออกให้ลองจินตนาการดูว่าเรานั่งในรถที่กำลังขับไปตามถนน จากนั้นยื่นมือออกไปนอกหน้าต่าง เราจะรู้สึกได้ถึงแรงผลักของอากาศที่กระทำกับมือของเรา ไม่เฉพาะมือแต่ทุกวัตถุที่เคลื่อนที่ผ่านอากาศจะได้รับผลของแรงนี้ทั้งสิ้น ยิ่งวัตถุมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีแรงผลักจากอากาศมาก เราเรียกแรงนี้ว่า แรงต้านอากาศ ที่น่าสนใจคือเมื่อวัตถุเช่น รถฟอร์มูล่า 1 ยิ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากเท่าใด แรงต้านอากาศก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ลองจินตนาการเวลาเราเดินในน้ำกับวิ่งในน้ำ ตอนวิ่งจะรู้สึกว่าหนืดกว่าตอนเดิน เพราะอย่างนี้เลยเป็นเรื่องท้าทายของเหล่าบรรดาวิศวกรทั้งหลายที่จะคิดวิธีเอาชนะผลจากแรงต้านอากาศนี้ให้ได้

ยังมีอีกแรงหนึ่งที่เกิดจากการเคลื่อนที่ผ่านอากาศก็คือแรงกด เมื่อรถเคลื่อนที่ผ่านอากาศจะเกิดแรงกดบนตัวรถทำให้รถแข่งเกาะติดถนนไม่เหินเมื่อเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ๆ ดังนั้นเมื่อมีทั้งแรงต้านอากาศ และแรงกดเช่นนี้หน้าที่วิศวกรคือออกแบบให้แรงกดมีมากกว่าแรงต้านอากาศเพื่อให้รถแข่งสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วสูง ๆ ได้นั่นเอง

ตัวรถฟอร์มูล่า 1 ออกแบบอย่างไรให้เป็นไปตามหลักแอโรไดนามิกส์               

การออกแบบให้ตัวรถแข่งสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูง จะทำให้ลักษณะของตัวถังรถมีความโค้งไม่เท่ากันเพื่อให้อากาศที่ไหลผ่านตัวรถมีความเร็วด้านบนกับด้านล่างไม่เท่ากัน ด้านบนจะมีความโค้งน้อยกว่าทำให้มีความเร็วผ่านเร็วกว่าด้านล่างซึ่งโค้งมากกว่าผลก็คือเกิดแรงกดกับตัวรถด้านบนทำให้รถยึดเกาะถนนได้ดี ส่วนที่ออกแบบคือแผ่นที่กั้นระหว่างพื้นถนนกับยางที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลัง ตัวถังที่เจาะช่องให้อากาศไหลผ่านตัวรถส่วนบนกับล่างที่มีความโค้งไม่เท่ากัน เมื่อรถถูกแรงกดให้แนบพื้นการเข้าโค้งรถจะไม่ไถลออกนอกโค้ง เวลาในการขับจะลดลงได้ นี่แหละคือความลับของหลักแอโรไดนามิกส์